En-สิ่งมหัศจรรย์อย่างใหม่ของโลก ณ ประเทศไทย
ฟ้าครึ้ม ๆ และกลิ่นไอทะเลคุ้นจมูก คือความรู้สึกแรกที่ลอยมาปะทะหลังจากมาถึงบางแสน เช่นเดียวกับหลายครั้งก่อนที่การมาบางแสนไม่ใช่การมาเที่ยวทะเล แต่มาพบเธออีกครั้ง "มหาวิทยาลัยบูรพา"
น่าแปลกที่ตลอดช่วงเวลาสี่ปีที่เรียนอยู่ผมไม่รู้สึกว่างานสัปดาห์วิชาการ ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของที่นี่จะน่าสนใจมากเท่าครั้งนี้ อาจจะด้วยว่าวัยที่มากขึ้น ประสบการณ์ที่มากขึ้น หรือเนื้อหางานบางอย่างได้เปลี่ยนไปก็ตาม ครั้งนี้ผมไม่ได้ดูการแสดงสนุก ๆ ของนิสิตทั้งหลาย ไม่ได้มาเพื่อหาของกินเล่นจากบรรดาร้านค้ามากมาย แม้จะแวะดูการออกร้านกิจกรรมต่าง ๆ ของนิสิตไปบ้าง แต่ปลายทางของผมวันนี้อยู่ที่ชั้น ๕ ของตึกรูปหนังสือแห่งนี้
“ขอเชิญชมห้องสมุดข้างบันไดค่ะ” นิสิตคนหนึ่งเอ่ยเชิญชวน หลังจากที่ผมเดินเข้าไปถึงระยะการมองเห็นของเธอและเพื่อน ๆ ที่นั่งอยู่ด้านหน้าห้องสมุด เราสนทนากันชั่วครู่ ทำให้ผมรู้ว่านอกจากห้องสมุดด้านหน้าแล้ว ภายในห้องเรียน “วิชาบรรณาธิการศึกษา” ด้านข้างภายในมีนิทรรศการเกี่ยวกับวิชาดังกหล่าว เช่นนั้นผมก็เอ่ยตอบเจ้าของเสียงใสว่าจะขอเดินเล่นดูด้านในเสียก่อน
เมื่อประตูของห้องเรียนวิชาหนังสือแห่งแรกในประเทศไทยเปิดออก นักเรียนหลายคนหันมามองหน้าผมอย่างแปลกใจ ชั่วครู่นักเรียนหญิงคนหนึ่งก็เดินมาชวนผมพูดคุย หลังการสนทนาแนะนำตัวเล็กน้อย เธอก็พาผมเดินเล่นทันที
สมุดบันทึกการบ้านที่วางอยู่หลายเล่มเตะตาผมเป็นสิ่งแรก ก่อนจะได้คำตอบว่านี่คือการบ้านของนักเรียนบรรณาธิการศึกษาชั้นปีที่ ๑ โดยทุกคนจะได้รับโจทย์จากอาจารย์ให้เขียนแสดงความคิดเห็น ความเข้าใจ วันละ ๑ หัวข้อ เธอเล่าต่ออีกว่าการเรียนในปีแรกนั้นจะเน้นไปที่การเสวนาพูดคุย ในทุกประเด็นที่นำมาทำเป็นหนังสือได้ นอกจากนี้ทุกคนยังสามารถตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัยและช่วยกันถกเถียงเพื่อหาคำตอบได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้เปรียบเสมือนการวางเสาเข็มที่จะเป็นรากฐานของหนังสือทั้งเล่มนั่นเอง
“หนังสือจะไม่เหมือนวารสารหรือนิตยสาร เราไม่ได้ทำงานแข่งกับเวลา แต่เราจะต้องใช้เวลาเพื่อทำให้งานออกมาดีที่สุด” เธอเอ่ยถึงความแตกต่างของการเรียนการสอนที่ต่างออกไป
หลังจากนั้นเธอก็อธิบายต่อถึงการเรียนการสอนในปีถัดไป ที่จะเข้าสู่ช่วงของวิธีการสร้างหนังสือ การเย็บปก การใช้กระดาษให้คุ้มค่า ไล่ไปจนถึงระบบการขาย สายส่งหนังสือ และอื่น ๆ อีกมากมาย เธอพูดพลางชี้ให้เห็นอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ บนโต๊ะ ทั้งหน้าปกที่พิมพ์ออกมาจากเพลท เนื้อหาสำหรับตรวจทาน ไปจนถึงข้อสอบของพวกเขา ก่อนจะเน้นย้ำว่าการเรียนที่นี่เน้นว่าเราต้องอ่านหนังสือ “สัปดาห์หนึ่งไม่ต่ำกว่า ๕ เล่ม” เธอชูนิ้วประกอบคำอธิบาย
จากนั้นผมก็เอ่ยถามถึงห้องสมุดด้านหน้าที่มีคำโปรยว่า “สิ่งมหัศจรรย์อย่างใหม่ของโลก” นักเรียนหญิงดูเหมือนจะเริ่มเหนื่อยเลยกวักมือเรียกเพื่อนชายมาอธิบายแทน “มันเกิดขึ้นเพราะอาจารย์เห็นว่าที่ตรงนี้ มันดูว่าง ๆ น่าจะเอามาใช้มันให้เกิดประโยชน์ ก็เลยมีไอเดียกันว่าน่าจะทำเป็นห้องสมุด” ผมอดไม่ได้ที่จะถามถึงอาจารย์มกุฏ อรฤดี ก่อนจะได้รับคำตอบว่าวันนี้อาจารย์ไม่มาต้องอยู่เฝ้าสำนักพิมพ์ แม้จะอดเสียดายไม่ได้แต่ไหน ๆ ก็มาแล้วก็เลยชวนพ่อหนุ่มคนเดิมไปคุยกันที่ห้องสมุด
“ทั้งหมดเริ่มต้นจากแนวคิดของอาจารย์ ว่าถ้าเราทำให้หนังสือเหล่านี้เป็นสมับัติสาธารณะ ทุกคนก็จะคอยช่วยดูแลมันเองโดยที่ไม่ต้องจ้างใครมาทำ” นักเรียนชายอธิบายขณะที่ผมกำลังเดินดูหนังสือไปตามชั้นเล็ก ๆ ที่เรียงตัวอยู่ตรงหัวมุมบันได เขาเล่าให้ฟังต่อไปอีกว่าแนวคิดดังกล่าวนั้นได้ทดลองใช้มาแล้วในชุมชนอิสลามที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งค้นพบว่าคนในชุมชนสามารถดูแลห้องสมุดแบบนี้ได้ดีกว่าพวกเราทำเสียอีก
“วันนี้มีเด็กนักเรียนจากระยองคนหนึ่งยืมหนังสือไป เขาแลกเบอร์เอาไว้ แล้วบอกว่าอ่านจบเมื่อไหร่ส่งพัสดุกลับมาให้” ชายหนุ่มเล่าถึงตัวอย่างหนึ่งเมื่อผมถามถึงผู้มาใช้งานในวันนี้
“หนังสือส่วนใหญ่จะได้มาจากสำนักพิมพ์ของอาจารย์ครับ” เขาตอบคล้ายกับสิ่งที่ผมคาดไว้จากชื่อสำนักพิมพ์ของหนังสือส่วนใหญ่บนชั้นหลังจากที่ผมถามถึงที่มาของมัน ก่อนจะอธิบายเสริมว่านักเขียนนักแปลบางคนก็ช่วยส่งมาสมทบ จากนั้นครูกับนักเรียนก็ช่วยกันคัดเลือกเอามาวางที่ชั้น นอกนั้นที่เป็นภาษาฝรั่งเศษ เยอรมัน ซึ่งน่าจะไม่ค่อยมีคนอ่านก็เอาไปทำนิทรรศการด้านใน “หลังจากนี้พวกผมก็มีหน้าที่มาช่วยจัดหนังสือ หรือทำความสะอาดบ้างครั้งคราวครับ” เขาเสริมปิดท้าย
ผมกลับออกมาโดยทิ้งสายฝนที่ตกลงมาไว้เบื้องหลัง รถตู้สีขาวเคลื่อนไปตามถนนมุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพมหานคร ผมนั่งอ่านแผ่นพับที่ได้รับมาพลางคิดถึงสิ่งที่เห็นมาตลอดวัน เหล่านักเรียนบรรณาธิการศึกษาอันแสนร่าเริง ผู้ซึ่งเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนในการออกแบบเนื้อหาด้วยการตั้งคำถามและหาคำตอบไปด้วยกัน การบ้านวันละหนึ่งข้อใหญ่ที่สร้างอุปนิสัยในการค้นคว้า และวินัยในการทำงานไปด้วยกัน แค่เพียงตัวอย่างเล็กน้อยก็ทำให้อดเปรียบเปรยไปถึงการเรียนบางคลาส ที่ทำได้แค่พยายามเอาสไลด์ที่เตรียมมาหลายสิบหน้ายัดเยียดให้กับผู้เรียนโดยไร้การตั้งคำถาม หรือแม้กระทั่งกิจกรรมนอกห้องเรียนที่มุ่งสร้างภาพลักษณ์ของตลาดวิชา โดยมิได้สนใจว่าพวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใด
แม้ว่าจะอดเสียดายเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ของพวกเขา แต่กระนั้นความประทับใจต่อสิ่งมหัศจรรย์ในชื่อของ“ห้องสมุดข้างบันได” ก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป เรามักจะถูกสอนว่าหนังสือเป็นสิ่งมีค่า (อาจจะด้วยราคาแพงของมัน) ดังนั้นจึงต้องเก็บรักษาให้ดีห้ามหาย ห้ามนั่งทับ ห้ามเดินข้าม ฯลฯ แน่ล่ะว่าการดูแลรักษาของเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่การที่มันมีมากเกินไปก็ก่อให้เกิดปัญหาของการเข้าถึง ผู้รับผิดชอบบางคนเลือกที่จะลั่นกุญแจใส่ตู้เก็บหนังสือราคาแพง (ที่หลายเล่มคุณภาพมาพร้อมกับราคาของมัน) หรือเอาเก็บใส่กล่องปิดไว้ ด้วยว่าถ้าหากมันหายไปความรับผิดชอบก็จะตกแก่เขาเพียงผู้เดียว
ตรงกันข้ามกับห้องสมุดข้างบันได ที่ใช้ระบบหนังสือสาธารณะ โดยไม่ต้องมีคนคอยเฝ้า แต่ใช้วิธีบริการตัวเอง ครั้งแรกที่ผมรับรู้ก็อดคิดไม่ได้ว่าระบบนี้คงไม่เหมาะกับประเทศของเราซักเท่าไหร่ เกรงว่าทำเรื่อย ๆ จะไม่เหลือหนังสือบนชั้นซักเล่ม แต่เมื่อได้ฟังและอ่านคำอธิบายของแนวคิดดังกล่าว ก็ทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งของมันว่า ในเมื่อเรากลัวว่าถ้าวางหนังสือไว้แล้วจะหาย เราก็เปลี่ยนให้ทุกคนเป็นเจ้าของเสียก็สิ้นเรื่อง แทนที่จะต้องมีใครมาคอยเฝ้าว่ามันจะหายไปไหน ก็ดึงเอาทุกคนมาช่วยกันเฝ้าช่วยกันดูแล ได้ทั้งขึ้นได้ทั้งล่องเหมือนที่เขียนไว้ในแผ่นพับแนะนำว่า “ห้องสมุดที่ทุกคนช่วยกันดูแล ยืมเอง อ่านเอง คืนเอง ภูมิใจตนเอง(ว่าไม่เป็นโจร)"
มาถึงตอนนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หนทางสู่สังคมการอ่านของเราอาจจะไม่ใช่แค่ส่งคนไปดูงานเมืองนอก สร้างห้องสมุดหรูหราราคาแพง หรือนโยบายบริจาคหนังสือเสรี เพราะในความเป็นจริง การอ่านนั้นเป็นสิ่งที่เรียบง่าย เป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างคนคนกับหนังสือดี ๆ ซักเล่ม ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการดึงเอาความขม ความขลัง และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่คั่นกลางระหว่างพวกเขาออกจากกัน ที่ถ้าใครนึกไม่ออกก็ขอเชิญไปใช้บริการ “ห้องสมุดข้างบันได” หยิบหนังสือที่ชอบใจมาหนึ่งเล่ม เปิดสมุดเซ็นยืม แล้วก็เอากลับไปอ่านได้ตามใจ เรียบง่ายแบบไม่ต้องง้อใครเลยจริง ๆ