Educational Theatre
มุ่งผลิตละครที่มีคุณค่า ส่งเสริมความคิด จินตนาการ และ จิตใจที่ดีงามให้กับเด็กและเยาวชนในรูปแบบการแสดงที่หลากหลาย ทั้งละครเร่ ละครเด็ก ละครหุ่น ละครนิทาน เป็นต้น ด้วยมุ่งหวังที่จะสร้างคุณค่าและจะสร้างคุณค่าและรสนิยมทางศิลปะ ผ่านสุนทรียศาสตร์ให้งอกงามขึ้นภายในจิตใจของเด็กๆ "
ละครเด็กและเยาวชน อ่านเพียงแค่ชื่อก็สามารถรู้ว่าละครลักษณะนี้จะต้องผลิตสำหรับเด็กๆ และส่วนมากจะนำไปแสดงในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันทางการศึกษาต่างๆ นอกจากเรื่องของสถานที่ใช้แสดงละครแล้ว ละครการศึกษา ยังมีความคล้ายคลึงกับละครชุมชน คือทำงานด้วยการดึงคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ ในที่นี้พื้นที่คือ ครู อาจารย์ และนักเรียน นักศึกษานั่นเอง ซึ่งมีเนื้อหาในการอบรมคือ กระบวนการทำงานกลุ่ม การลงพื้นที่เก็บข้อมูล พัฒนาบทละคร ฝึกทักษะละคร การผลิตและการแสดงละคร ละครแสดงในสถานศึกษายังสามารถนำละครขนาดใหญ่มาใช้แสดงได้ เช่น ละคร เรื่องมาลัยมงคลและพิษฐานเอย หลังจากที่นำไปเปิดแสดงยังประเทศต่างๆเสร็จแล้ว ก็นำมาเปิดแสดงในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศถึง 80 แห่ง กว่า 150 รอบ ขณะเดียวกัน ละครขนาดเล็กก็ได้รับการนำมาแสดงในสถาบันการศึกษาเป็นประจำ โดยเรียกว่าละครในโรงเรียน (School-based theatre in education projects) และล่าสุดกับโครงการวัยมันส์เท่าทันสื่อ ที่มะขามป้อมร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้และ ความตระหนักถึงการรับสื่อในปัจจุบันของเยาวชน
งานฝึกอบรม
การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เผยแพร่กระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมละคร ที่เน้นให้เด็กรู้จักตนเองผ่านการคิด การจินตนาการ การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคม โดยจัดอบรมให้กับ เด็ก เยาวชน พ่อแม่ ครูอาจารย์ นักกิจกรรม และผู้สนใจเพื่อที่จะนำ ละครไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยตนเอง