EN-เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงภาคอีสาน : จุดแวะพักสุดท้ายของ “การเปลี่ยนแปลง”
ในขณะที่การถกเถียงของบรรดาผุ้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนอย่างพวกเรา กำลังดำเนินไปอย่างถึงพริกถึงขิง อีกด้านหนึ่งก็มีการเคลื่อนไหวของเยาวชนตัวเล็ก ๆ ไม่ต่ำกว่าสี่สิบชีวิต ทั้งหมดกำลังเตรียมตัวเดินทางมารวมตัวกัน ณ จังหวัดอุบลราชธานี ดินแดนแห่งแม่น้ำสองสี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมในงาน “เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ประจำเขตภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นจุดแวะพักสุดท้าย ที่จะปูทางไปสู่มหกรรมใหญ่ต้นเดือนกันยายน
งานทั้งหมดจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายในวันเสาร์ ๒๖ สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่เป็นอย่างดีจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีคือบ่ายโมงตรง “คุณหมอบัญชา พงษ์พานิช” กรรมการบริหารแผนงานสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ก็ได้ให้เกียรติมากล่าวเปิดงานและให้กำลังใจเหล่าดาราตัวเล็ก ๆ ที่จะขึ้นมาโลดแล่นบนเวทีต่อจากนี้
ทันทีที่พิธีกรเอ่ยชื่อ “กลุ่มตะขบป่า” เสียงโห่กลองยาวของพิธี “แห่นางแมว” ก็ดังสวนขึ้นมา ก่อนจะถูกสอดรับด้วยเพลงโคราชเพราะ ๆ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโคราชอันแสนสงบสุข นำพาผู้ชมเข้าไปรับรู้เรื่องราวของ “ดงพญาไฟ” ละครของพวกเขาที่มีชื่อเดียวกับป่าดงดิบที่เคยคร่าชีวิตผู้คนมากมายในอดีตใคร ความต่อเนื่องของอารมณ์ในการแสดง ผสมผสานไปกับถ้อยคำอันสละสลวยสะกดให้เราเคลิบเคลิ้มไปกับละคร เรื่องราวของ “มนุษย์” ผู้สุดแสนทะเยอทะยาน ทำลายธรรมชาติครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายกว่าจะรู้ตัว ก็ไม่เหลือมนุษย์คนใด...ยืนอยู่
หลังละครสนุก ๆ ของหนุ่มสาวโคราช ก็ถึงช่วงเสวนาพูดคุยในหัวข้อ “ท้องถิ่นปะทะโลกาภิวัฒน์” ที่ได้รับเกียรติจากตัวแทนหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทางผู้สนับสนุน ภาคีเครือข่าย หรือตัวแทนจากภาคการศึกษา เรียกได้ว่าการเสวนาครั้งนี้ ช่วยเปิดให้เห็นมุมมองของแต่ละภาคส่วนในสังคมที่มีต่อสังคมในขณะนี้ได้อย่างชัดเจนจริง ๆ
มาต่อกันด้วยละครเรื่องถัดไป กับการหยิบยกตำนานท้องถิ่นมาสอดแทรกประเด็นของการบุกรุกพื้นที่ป่าแห่งสุดท้ายของมหาสารคาม พวกเขา “Pigeon” มาในละครเรื่อง “สังสินไซย” เมื่อเจ้ายักษ์กุมภัณฑ์ครั้งนี้มาเหนือเฆม ใช้ความเจริญบังหน้าเพื่อหลอกล่อให้นางสุมนทากลับไปเป็นศรีภรรยา เปรียบเปรยและเสียดสีการพัฒนาที่มักจะมาพร้อมกับจุดประสงค์แอบแฝงเสียชุดใหญ่ หากแต่จบลงเศร้าสร้อย เมื่อสงครามระหว่างสังสินไซยและกุมภัณฑ์ต้องจบลง ด้วยการเสียสละของนางสุมนทา ผู้มีชะตากรรมเดียวกับป่าผืนนั้น
จากสังสินไซยมาต่อกันด้วยสังสินไซย แต่รอบนี้เป็นทีของนักศึกษารัฐศาสตร์ สี่หนุ่มผู้กล้าหาญ "สเลเต" ที่หันมาจับเครื่องมือละครเพื่อบอกเล่าประเด็นความไม่เป็นธรรมของภาครัฐที่มีต่อชาวบ้าน ที่ต้องเช่าผืนดินของตัวเองทำมาหากิน สังสินไซยที่ย้อนกลับไปเล่าในภาคของพระยากุสราช ต้องออกตามหานางสุมนทาที่ถูกลักพาตัวไป แม้ว่าท้ายสุดจะพาตัวกลับมาได้ ก็ต้องเสียรู้ให้กับยักษกุมภัณฑ์ เฉกเช่นชาวบ้านที่เสียเปรียบภาครัฐเสียทุกที
ตำนานพื้นบ้านต้นกำเนิดของการทำบุญบั้งไฟ “พญาคันคาก” คือโปรแกรมถัดมา คราวนี้น้อง ๆ “Is mass” จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำประเด็นเรื่องการยุบโรงเรียนเล็ก ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาอันล้มเหลวไม่มีชิ้นดี มายำใหญ่ใส่ละคร เมื่อเหล่าพญานาคกำลังสับสนว่าจะเอาสระว่ายน้ำหรูหราหรือบ่อน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ทำให้ฝนที่เคยตกก็ดันไม่ตก พญาแถนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็ดันพักร้อนไปตีกอล์ฟ ร้อนไปถึงพญาคันคากซึ่งถูกชาวบ้านร้องเรียน ก็จัดตั้งไพร่พลบุกขึ้นไปหาพญาแถน ก่อนจะจบสวยด้วยว่าให้ชาวบ้านจุดบั้งไฟไปเตือนพญาแถนเวลาอยากได้ฝน แต่ก่อนจะจบบริบูรณ์บรรดาพญานาคยังมิวายทิ้งคำถามไว้ให้พวกเราว่า ระหว่าง “บั้งไฟดั้งเดิมสวยงามด้วยข้าวตอกดอกไม้และผ้าไหม” กับ “บั้งไฟสมัยใหม่นำทางด้วยระบบเนวิเกเตอร์” พวกเราจะเลือกอะไร?
พักกันนิดหน่อย แล้วมาต่อที่ละครรักซับซ้อนชื่อเรื่องไซไฟอย่าง “รักทะลุมิติ” ตำนานพื้นเมืองของท้าวขูลูและนางอั้ว ที่ถูกกีดกันจากครอบครัว ส่งผลให้ทั้งต้องใช้วิธีดั้งเดิมคือพาหนี หากแต่พบว่าชีวิตนั้น “จริง” และไม่ใช่ทุกครั้งที่จะจบสวย นี่เป็นเสมือนภาพสะท้อนของสังคมยุคปัจจุบัน ปัญหาเรื่องความรักและเซ็กส์ของวัยรุ่นซึ่งเกิดขึ้นจากหน่วยเล็ก ๆ ของสังคมครอบครัวที่ไม่เคย “ฟัง” พวกเขาอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อพวกเขาต้องแก้ปัญหาเอาเอง เราก็ต้องยอมรับผลของมัน
เรื่องสุดท้ายของเทศกาลกับประเด็นโลกที่เริ่มหมุนเร็วขึ้นทุกวัน การต่อสู้ระหว่างรถเกี่ยวข้าวสมัยใหม่กับประเพณีลงแขกดั้งเดิม ถูกนำมาผสมนิทานพื้นบ้านของไอ้หนุ่มเจ้าเล่ห์แสนกล “บักเซี่ยงเมี่ยง” หรือตามท้องเรื่องคือเจ้าของรถเกี่ยวข้าว ผู้มาโกงที่ดินของชาวบ้านไปหมดหมู่บ้าน กับไอ้หนุ่มหน้าโหดแต่หัวใจลูกทุ่ง “บักเซี่ยงคาน” ชายผู้ออกมาท้าสู้เพื่อเอาที่ดินกลับมาให้กับชาวบ้าน และแล้วการประลองเกี่ยวข้าวก็เริ่มต้นขึ้น กลุ่ม “สื่อใสวัยทีน” เลือกการนำเสนอแบบเรียบง่ายไม่มีเทคนิคแพรวพราวมูฟเม้นต์อลังการ แต่ความ “จริงใจ” ของพวกเขาทำให้หลายคนน้ำตาริน...ยามเมื่อเสียงแคนลอยมาเบาเบาขณะที่บักเซี่ยงคานกำลังเกี่ยวข้าว พร้อมกับชาวบ้านค่อย ๆ เดินจากไปทีละคน
เมื่อละครทุกเรื่องจบลงก็เป็นเหมือนสัญญาณบอกว่าเทศกาลละครสี่ภูมิภาค ของโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงปีที่สามก็มาถึงจุดสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน แต่ทว่านี่คือจุดเริ่มต้นของงานใหญ่ประจำปีที่ดีที่สุดในสามโลก “มหกรรมละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๖ และ ๗ กันยายน ณ “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” สวนวชิรเบญทัศ หรือสวนรถไฟของใครหลาย ๆ คน ที่นี่จะกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านละครจากวิทยากรหลากหลายสาขา ผสมผสานกับการเสวนาภายใต้ละครจากสี่ภูมิภาค พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ของบรรดาเครือข่ายนักการละครจากทั้งประเทศ
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็ขอเชิญให้ทุกท่านไปสัมผัสด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่าเส้นทางที่พวกเขา “นักการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” เดินทางมาตลอดมันเป็นอย่างไร ข้าน้อยกระซิบบอกได้เพียงแค่ว่า อาจจะดูขัดคำโบร่ำโบราณไปสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า “การเดินไปให้หมามันกัด ดีกว่าเดินตามผู้ใหญ่ตาบอด” ก็แล้วกัน